ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน

  ประวัติโรงเรียนโคกสำโรงวิทยา
            โรงเรียนโคกสำโรงวิทยา ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เดิมชื่อ“โรงเรียนมัธยมวิสามัญโคกสำโรง”ในระยะแรกอาศัยสถานที่ของโรงเรียนโคกสำโรงซึ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาดำเนินการเรียนการสอน โดยเปิดสอนชั้นมัธยมปีที่ ๔ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ มีนักเรียนเริ่มแรกจำนวน ๑๖ คน มีนายถนอม ดวงแก้ว เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่คนแรก
ปีการศึกษา ๒๕๐๒ ได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณสงวน บุญรักษ์ อนุญาตให้ใช้ที่ดินจำนวน๑๐ ไร่ ที่ถนนพหลโยธิน ตำบลโคกสำโรง เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารเรียนและปีการศึกษา๒๕๐๓ ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่เป็น “โรงเรียนโคกสำโรงวิทยา” เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แบบสหศึกษา
ปีการศึกษา ๒๕๑๔ นายชวลิต แสงคล้อย ซึ่งเป็นครูใหญ่ในขณะนั้น เห็นว่า สถานที่เรียนเดิมคับแคบ ประกอบกับนักเรียนเดิมมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงได้ติดต่อกับพ่อค้า คหบดี ผู้ปกครองนักเรียน ได้รับบริจาคเงินซื้อที่ดินตำบลคลองเกตุติดถนนสุระนารายณ์ หมู่ ๙ จำนวน ๔๖ ไร่ ๙๘ ตารางวา และนายสังวาลย์ หินเกิด ได้บริจาคที่ดินเพิ่มอีก ๖ ไร่ ๘๒ ตารางวา รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมด ๕๒ ไร่ ๑ งาน ๘๐ ตารางวา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนและย้ายนักเรียน มาเรียนสถานที่ใหม่ ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๑๖จนถึงปีการศึกษา ๒๕๒๐ ได้ย้ายนักเรียนทั้งหมดมาเรียนสถานที่เรียนใหม่ตั้งแต่นั้นมา โดยมีนายอุดม เกตุวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ในขณะนั้น
            ปัจจุบัน นายสำรวย วัฒนวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโคกสำโรงวิทยา  วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ (คศ.๓) มีนโยบายในการบริหารจัดการศึกษาให้เป็นโรงเรียนที่พัฒนาผู้เรียนทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่สังคม ตลอดจนจัดหลักสูตรที่จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการตามจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และขับเคลื่อนนโยบายตามแนวทางของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต ๕ ซึ่งการกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการคิดเชิงรุก (Active Learning) ฝึกทักษะกระบวนการแก้ปัญหา (STEM Education) และการจัดการเรียนการสอน Coding และ Computing Science อีกทั้ง ครูผู้สอน ต้องมีทักษะการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายตอบสนองผู้เรียนเป็นรายบุคคลโดยใช้เทคนิควิธีการสอนที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม และทักษะในการใช้สื่อและเทคโนโลยี มีการพัฒนาตนเองทั้งทางด้านวิชาการ และวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง พัฒนาผู้เรียนให้มีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์นวัตกรรม มีความรู้ มีทักษะและคุณลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษที่ ๒๑ แหล่งเรียนรู้ต่างๆ และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียน ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้พร้อมก้าวสู่สากล ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง